clinicrak.com   คลินิกรัก



แม่จ๋า...อย่าทิ้งหนูไว้หน้าจอโทรทัศน์


"แม่" มิเพียงเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่เท่านั้น หน้าที่ของแม่ลึกซึ้งมากมายกว่านั้น คุณแม่ทั้งหลายท่านเป็นห่วงว่า ทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงดูลูกให้ได้ดีที่สุด เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้น เป็นคนที่มีคุณภาพทั้งกายและใจ

มีจดหมายมาจากคุณแม่ท่านหนึ่งกำลังกลุ้มใจเหลือเกิน กับพฤติกรรมการเล่นของลูก


ถึง...นิตยสารแม่และเด็ก

ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เสนอข่าวเด็กวัยรุ่นอเมริกา เลียนแบบหนัง แสดงความโหดร้ายโดยการระดมยิงเพื่อนนักเรียนตายกว่า 20 คน คงเป็นข่าวที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ สำหรับดิฉันเองแล้วให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะกำลังมีลูกชายวัย 10 ขวบที่ชอบดูหนังสงคราม มีปืนปลอมเต็มบ้านเลย แต่ดิฉันคิดว่าฝากเขาเลี้ยงไว้เพียงช่วงกลางวันไม่กี่ชั่วโมงคงไม่มีอะไร กว่าจะรู้ถึงความรุนแรงก็ต้องมานั่งแก้กันจนปวดหัว ดิฉันเขียนมาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นเรื่องสอนใจกับคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวอื่นๆ และอยากให้นิตยสารแม่และเด็กช่วยบอกวิธีแก้ไขให้ลูกชาย ให้เขากลับมามีจิตใจแบบเด็กธรรมดาด้วยค่ะ

พรรณศรี


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ เตือนว่า แม่จะกลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญน้อยลง ในการสร้างชีวิตลูกหากไม่พยายามทำบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ที่สุด

ผลการวิจัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับวิถีชีวิตในสังคมเมือง นั่นคือ วิถีชีวิตในสังคมเมืองสร้างปัญหาให้เกิดแก่ครอบครัว เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดการใช้เวลาของครอบครัว ส่งผลให้แม่ให้การอบรมสั่งสอนลูกน้อยลงตามไปด้วย เด็กๆ จะถูกทดแทน การใช้เวลากับแม่ด้วยอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งมีผลต่อการกำหนดความคิด และพฤติกรรมของเด็กให้เบี่ยงเบนไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยไม่ได้ตระหนักในการใช้เวลากับลูกๆ ให้คุ้มค่าในการพัฒนาความรัก พัฒนาความรู้พัฒนาครอบครัวในเชิงบวกอย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่ผมเป็นห่วงอย่างยิ่งต่ออนาคตการสร้างคนรุ่นต่อไปของสังคมไทยก็คือ หากพ่อแม่แต่ละครอบครัวไม่ได้ใช้เวลาในขณะอยู่กับลูกให้เกิดคุณประโยชน์สูงสุด ในอนาคตข้างหน้าพ่อแม่อาจจะต้องเสียใจที่ได้มีส่วนทำร้ายชีวิตลูกรักโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขาไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะได้ จากบุพการีของเขาในวัยที่เขาต้องการ

อิทธิพลจอตู้ทำให้ลูกเป็น...

แม้ว่าสถิติดังกล่าวไม่ได้สรุปถึงผลดีผลเสียของการที่เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูโทรทัศน์ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่ในฐานะที่เป็นแม่จะตระหนักบ้างหรือไม่ ลูกจะสูญเสียอะไรบ้าง หากแม่ไม่ได้ใช้เวลากับเขาอย่าง "ดีเลิศ"
ลองสังเกตดูว่า หากปล่อยให้เขาใช้เวลาว่างส่วนใหญ่อยู่หน้าจอโทรทัศน์
  • เกียจคร้าน... โทรทัศน์จะเพิ่มหลังเฉื่อยเพราะกล้ามเนื้อตาจะทำงานหนักอย่างเดียว ขณะที่ในวัยนี้น่าจะได้พัฒนาทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะสมองที่ไม่ได้ขบคิดมากนัก จากภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ลูกจะเกียจคร้านมากขึ้นจะเกี่ยงงอนเมื่อถูกใช้งาน จะผลัดวันประกันพรุ่งรอให้รายการที่ตนดูอยู่นั้นจบสิ้นเสียก่อน

  • อยากมี อยากเป็น อยากได้ เหมือนกับที่โฆษณาทางโทรทัศน์... บ่อยครั้งที่ลูกพยายามรบเร้าให้คุณแม่พาไปห้างสรรพสินค้า และภาคภูมิใจเมื่อได้รับการตอบสนองทางวัตถุจากภายนอก เมื่อเด็กเติมเต็มจากภายนอก แน่นอน ภายในใจของเขาย่อมว่างเปล่าไม่รู้ว่าตนเองมีศักยภาพอะไร เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเป็นผู้เปิดรับข้อมูลไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ ในการเรียนรู้และแสวงหา เนื่องจากพ่อแม่ผู้ใกล้ชิดมากที่สุดไม่ได้ทำหน้าที่ "ผู้นำ" ในการนำทิศทางชีวิต โดยชี้ให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ และช่วยเขาในการพัฒนาศักยภาพนั้นออกมาจากภายใน เด็กจึงมีแนวโน้ม ขาดความมั่นใจในตัวเองและอยากเป็นเหมือนคนอื่นตลอดเวลา

  • ขาดความอดทน... คุณอาจไม่ตระหนักถึงพิษร้ายของรีโมตคอนโทรล อุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนช่องไปมา เด็กๆ อยากดูช่องไหน ก็ได้ทันที เบื่อก็เปลี่ยน เบื่อก็เปลี่ยน เด็กจะถูกทำลายการสร้างสมาธิลงไปเรื่อยๆ ผลร้ายของการขาดความอดทนเด็กจะฉุนเฉียวเมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ เด็กจะสามารถทะเลาะกันเองหรือโกรธพ่อแม่ได้ทันทีเมื่อถูกขัดใจเด็กจะขาดสมาธิ ในการอ่านหนังสือเพราะการอ่านต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนและไม่น่าสนใจเท่าทีวี

  • เด็กจะทำในสิ่งที่แม่ไม่เคยสอน... เด็กจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ควรทำหรือไม่ควรทำอย่างถูกต้องตามจริยธรรมอันดีของสังคม เนื่องจากอิทธิพลของโทรทัศน์มักจะสะท้อนภาพของความรุนแรงการใช้กำลัง ความอิจฉาริษยา ความเพ้อฝัน ความตลกโปกฮาที่ไร้สาระทางปัญญาหรืออื่นๆ ตามแต่ผู้จัดการในสังคมทุนนิยมเสรีจะพาไป เด็กก็จะรับค่านิยมเหล่านี้ และจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบชนิดที่แม่ยังแปลกใจในคำพูด ความสนใจและพฤติกรรมต่างๆ ของลูกว่า "ฉันไม่เคยสอนแบบนี้เลยนะ ไม่รู้ไปจำมาจากไหน"

  • เด็กจะเป็นคนที่ไร้วินัยในการดำเนินชีวิต... เด็กมีแนวโน้มชอบทำตามใจปรารถนา เพราะเขาจะใช้เวลามาก เท่าที่แรงดึงดูดของโทรทัศน์จะพาไป โททัศน์จะมีอิทธิพลที่ยึดทั้งตัวเด็ก ความคิด ความสนใจ และเวลา ให้หมดไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน จนไม่ได้พิจารณาว่าเวลาไหนสมควรทำอะไร
  • ฯลฯ

ผลกระทบที่ส่งผ่านจากเครื่องรับโทรทัศน์สู่ลูกอาจจะไม่เกิดขึ้นทันที แต่จะสะสมอยู่ในความคิดและค่อยๆ แสดงออกเป็นพฤติกรรม ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แม้ว่าจะไม่มีงานวิจัยว่าเด็กชายชาวอเมริกันที่ใช้ปืนกลยิงกราดพ่อแม่และเพื่อนนั้น เขาได้รับอิทธิพลจากโทรทัศน์หรือไม่ หรือวัยรุ่นสาวชาวญี่ปุ่นที่ฆ่าตัวตาย นักร้องได้รับอิทธิพลที่ส่งผ่านสื่อมวลชนหรือไม่ และมีอีกหลายๆ กรณีทำนองนี้ที่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่แน่นอนที่ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนตรงข้ามกับการสั่งสอนของแม่ เพราะคงไม่มีแม่ที่จิตปกติคนใด ที่ส่งผ่านอิทธิพลแง่ลบลงไปในความคิดของลูก แทนการให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกอย่างแน่นอน

แม่ควรใช้เวลากับลูกอย่างดีที่สุด

ผมเชื่อว่าในฐานะแห่งความเป็น "แม่" คงไม่มีแม่คนใดอยากเห็น วันที่อิทธิพลในแง่ลบจากโททัศน์แสดงออกเป็นพฤติกรรมของลูกอย่างแน่นอน ดังนั้นแม่ควรที่จะทำหน้าที่ "ตัดไฟเสียแต่ต้นลม" โดยตระหนักว่า "ให้เราทำลายอิทธิพลของโทรทัศน์เสียก่อน ก่อนที่อิทธิพลของมันจะทำลายลูกของเรา"

ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าเด็กๆ จะไม่สามารถดูโทรทัศน์ได้เลย เพราะในความเป็นจริงรายการโทรทัศน์ที่มีสาระประโยชน์ก็มีอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่ผมอยากให้ พ่อ แม่ พี่น้อง และคนในครอบครัวมีโอกาสใช้เวลาร่วมกันอย่างเต็มที่ มากกว่าที่จะให้โทรทัศน์ดึงเวลาอันมีค่าเหล่านี้ไป เพราะหากเปรียบเทียบกับการให้ลูก ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับหน้าจอโทรทัศน์ กับการที่พ่อและแม่ใช้เวลาดังกล่าวกับลูก ในการทำสิ่งเหล่านี้ อาทิ
  • ใช้เวลาอบรมสั่งสอน ให้ลูกๆ เรียนรู้ค่านิยมและสั่งสมปรัชญาในการมองโลกที่ถูกต้อง
  • ใช้เวลาในการพูดคุยให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่ลูกๆ มีตามวัยของเขา
  • ใช้เวลาการปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมด้วยความรักความอบอุ่นภายในครอบครัว
  • ใช้เวลาให้ลูกๆ เรียนรู้ที่จะอ่านหนังสือดีๆ
  • ใช้เวลาในการถ่ายทอดภูมิปัญญาของพ่อแม่ลูกไม่ว่าจะเป็น วิชาทำอาหาร เย็บปักถักร้อย การซ่อมแซมเครื่องมือ การเล่นดนตรี การเล่นกีฬา ฯลฯ
  • ใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในชีวิตลูก
  • หรือใช้เวลาใดๆ ก็ตามที่มีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของลูกสูงสุด เมื่อเขาเติบโตขึ้น

"แม่" นอกจากจะมีหน้าที่ในการให้กำเนิดแล้ว แม่จำเป็นต้องมีหน้าที่และบทบาทความรับผิดชอบต่างๆ ที่จะช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และเป็นประชากรที่สมบูรณ์ ดังนั้นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ "การเป็นเกราะคุ้มภัย" ที่คอยปกป้องมิให้ลูกเสี่ยงต่อการได้รับ "ยาพิษร้าย" จากอิทธิพลภายนอกโดยไม่รู้ตัว ด้วยการใช้เวลากับลูกอย่างถูกต้องและสมควร

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์



[ BACK TO LIST]

[Home] [ เพศ] [ครอบครัว] [ ผู้สูงวัย ] [วัยรุ่น] [คุมกำเนิด] [ โรคสตรี ] [กามโรค] [เกย์] [ law ]