clinicrak.com   คลินิกรัก



โรคเริมกับทารก


มีคำถามของคุณคนไข้ เป็นคำถามที่ผู้ถามมีความรู้อยู่บ้างพอสมควร คำถามมีว่า
" หนูเคยเป็นเริมที่บริเวณปากช่องคลอด เป็นมาหลายปีแล้วยังไม่หายซักที วันดีคืนดีมันก็โผล่ออกมาให้รำคาญใจแถมด้วยความเจ็บปวด แต่ปัญหาของหนูไม่ได้อยู่ตรงความเจ็บปวด และเจ็บใจ ปัญหาอยู่ที่ว่าตอนนี้หนูอายุได้ 28 ปีแล้ว และพร้อมจะมีบุตร หนูจะทำอย่างไรดีกับโรคเริมอันนี้คะ"
ครับว่าไปแล้วโรคเริมของช่องคลอดนั้น มันมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ใกล้ครบกำหนดคลอด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าเชื้อเริมซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ว่าไปแล้ว มันก็แค่ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ มีอาการแค่เป็นแผลแล้วก็เจ็บปวด
แต่ถ้ามันเกิดเป็นเข้ากับเด็กตัวเล็กๆ เฉกเช่น ทารกแรกคลอด อาการมันจะไม่เพียงแค่นั้นซิครับ ถึงตายได้เลยทีเดียว เอากะมันสิ

ดังนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ว่าเกิดเป็นเริม บริเวณปากช่องคลอดหรือไม่ ใครที่เคยเป็นเริมชนิดนี้อย่างซ้ำซาก รักษามาแล้วก็ไม่เคยหายขาด วันดีคืนดีมันก็เกิดขึ้นมาอีก แบบนี้ก็ต้องยิ่งระวังหนัก ขอให้สังเกตให้ดีว่าในช่วงตั้งครรภ์นั้น คุณเกิดเป็นเริมขึ้นมาหรือไม่

หากสงสัยก็ต้องไปให้คุณหมอท่านตรวจยืนยันว่าใช่เริมแน่แล้ว และจะทำอย่างไรกันต่อไป

ตามหลักการแพทย์นั้น ถ้าหากคุณเป็นเริมในขณะมีการตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณหมอจะต้องระวังกันอย่างที่สุด ที่จะไม่ให้คุณทารกน้อยได้สัมผัสกับตัวเชื้อไวรัสเริม โรคเริมติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัสโดยตรง เริมมันมิได้บินมาหาหรือลอยมาตามอากาศเหมือนไวรัสโรคหวัด

แต่มันติดต่อด้วยการสัมผัส หากคุณที่เคยเป็นโรคเริมนี้มาก่อนก็พอจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ในช่วงต้นที่คุณเริ่มมีอาการนั้นก็คือ แสบๆ คันๆ บริเวณที่เริมมันจะโผล่ออกมาจากนั้นก็ตามมาด้วยตุ่มน้ำใสๆ ขนาดเล็กกว่าหัวไม้ขีด เท่าหัวเข็มหมุดประมาณนั้น ในน้ำใสๆ นั่นแหละครับจะเต็มไปด้วยตัวเชื้อไวรัส ที่พร้อมจะไปอาละวาดกับคนอื่นได้ตลอด ถ้าหากได้น้ำนั้นไป

อย่างไรก็ตามเมื่อตุ่มใสนั้นแตกตัวเชื้อไวรัสก็อาจจะวนเวียนอยู่บริเวณนั้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ถ้าหากเด็กทารกคลอดผ่านช่องคลอดออกมาไปสัมผัสกับเชื้อไวรัสนั้นเข้า และเกิดติดเชื้อเข้าไป โดยมิได้ตั้งใจหรือรู้ตัว แล้วโรคมันเกิดกำเริบรุนแรง ทารกก็อาจจะถึงกับเดทสะมอเร่ได้

ดังนั้นอย่าเสี่ยงกันเลยดีกว่าเข้าทำนอง "กันดีกว่าแก้" ไม่ประมาทว่างั้นเถอะ ทางแพทย์จึงตั้งกติกาไว้ว่า ถ้าคุณแม่เป็นโรคเริมในช่วงตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป หรืออยู่ในช่วงหกสัปดาห์ก่อนคลอด ก็ขอให้คลอดด้วยการผ่าตัดคลอด คือแทนที่จะให้เด็กทารกมุดออกมาทางช่องคลอดที่อาจจะมีเชื้อไวรัสเริม แอบแฝงอยู่ ก็ให้ผ่านออกมาทางหน้าท้องจะได้ปลอดภัย

ยกเว้นแต่ในกรณีที่ถุงน้ำแตกก่อนผ่านั้น และแตกมาแล้วนานกว่าหกชั่วโมงขึ้นไป นั่นก็หมายความว่า เชื้อไวรัสคงจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำทางรอยแตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะคลอดด้วยการผ่าคลอดหรือคลอดออกมาทางช่องคลอดจึงไม่มีความแตกต่าง เพราะถึงอย่างไรเด็กทารกก็คงติดเชื้ออยู่ดี ก็คงต้องไปลุ้นกันต่อว่า เชื้อเริ่มมันจะรุนแรง ดุร้ายแค่ไหนกับเหตุการณ์ในครั้งนี้

ครับก็ใช่ว่าเด็กทารกทุกคนที่ได้รับเชื้อเริมในตอนแรกคลอดจะต้องรุนแรงถึงตายทุกคนไป
มันก็ต้องอาศัยดวงด้วยแหละครับ แต่ใครหละที่อยากจะเอาดวงเป็นเครื่องตัดสินชะตาชีวิตแบบนี้
คุณคนหนึ่งหละที่ผมเชื่อว่า "ไม่"

ดังนั้น ถ้าหากคุณตั้งครรภ์ขึ้นมาและเคยมีประวัติโรคเริมที่ปากช่องคลอดมาก่อน ก็จะได้ใส่ใจเป็นพิเศษในตอนตั้งครรภ์นะครับ

ถ้าหากไม่ชอบมาพากลก็จงแบกสังขารของคุณไปพบหมอ เพื่อจะได้ตรวจให้รู้ดำรู้แดงไปเลย ว่าใช่เริมอย่างว่าหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็แล้วไป แต่ถ้าใช่ก็จะได้ระมัดระวัง ถึงลูกในครรภ์ด้วยไงหละครับ คุณว่าดีมั๊ยหละ

น.พ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ

(update 26 มกราคม 2001)


[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ 24 ฉบับที่ 344 ตุลาคม 2543]

[ BACK TO LIST]

[Home] [ เพศ] [ครอบครัว] [ ผู้สูงวัย ] [วัยรุ่น] [ เลี้ยงลูก ] [ โรคเด็ก ][คุมกำเนิด] [ โรคสตรี ] [กามโรค] [เกย์] [ สุขภาพจิต] [ law ]