clinicrak.com   คลินิกรัก



เคยผ่าคลอดแล้วจะคลอดเองได้ไหม


" เคยผ่าท้องคลอดเมื่อท้องที่แล้ว ท้องนี้จะคลอดเองได้ไหม ? "
เป็นคำถามของคุณแม่ยุคใหม่ ต้องเน้นว่ายุคใหม่มากๆ ซึ่งคำถามดังกล่าว พบมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

เมื่อ 20 ปีมานี้คำถามดังกล่าวไม่ค่อยพบอาจจะเรียกได้ว่า ไม่เคยได้ยินก็คงถูก คุณแม่มักจะถามแพทย์ผู้ดูแลว่า ท้องนี้ต้องผ่าใช่ไหม เพราะท้องก่อนก็ได้รับการผ่าคลอดมา คงมาจากสาเหตุสองประการ ประการแรกเพราะยุค IMF ประชาชนจนลงถ้วนหน้าตามสโลแกนที่ว่า รัฐบาลไม่สามารถทำให้ทุกคนร่ำรวยได้ แต่สามารถทำให้ทุกคนจนลงได้ เป็นยุคที่หุ้นตกจากพันเศษ มาเหลือเศษหนึ่งส่วนสี่ของพัน แต่ก่อนเคยเรียกมนุษย์ที่เล่นหุ้นว่า แมลงเม่า แต่ยุคนี้มีแต่ไส้เดือน ต้องหลบลงรูจำศีลอด

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ซึ่งมักจะมีความวิตกกังวลต่ออนาคตของลูกในท้องกว่าปกติ คงมองเห็นแล้วว่า การผ่าคลอดบุตรนั้นต้องใช้จ่ายมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด หนทางใดที่จะประหยัดเงินได้ ก็ควรจะประหยัด ยุค IMF คุณแม่ไม่กลัวความเจ็บแล้ว กลัวความจนมมากกว่าเพราะเจ็บครรภ์คลอด ไม่กี่ชั่วโมงก็หายแล้ว แต่ความจนในยุคนี้ดูจะยั่งยืนจีรังยาวนานเกินคาด วันนี้เงินบาทก็หล่นล่วง ลงมาถึง 44 บาทต่อดอลลาร์ ดั่งลูกมะพร้าวตกลงพื้นเลยว่า กระต่ายแตกตื่นกันไปทั้งประเทศ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวกระมังโรงพยาบาลต่างๆ จึงเข้าใจถึงความกังวลของคุณแม่ และประชาสัมพันธ์แข่งกัน แจ้งราคาเป็นระบบเหมารวมให้คุณแม่ได้ทราบว่า ค่ารักษาพยาบาลในการผ่าตัดคลอดไม่ได้แพงอย่างที่คิด อาจจะเป็นด้วยเทคนิคการตลาด การแข่งขันกันหนีความขาดทุน โรงพยาบาลต่างๆ เลยออกมาประกาศแจ้งราคาไม่เท่ากัน ทั้งยังคิดราคาถูกกว่าแต่เดิม

ซึ่งพอโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กขนาดกลาง ใช้ลูกเล่นดังกล่าว โรงพยาบาลระดับเจ้าสัว (แต่ก่อน) ก็ทนอยู่นิ่งไม่ไหวเริ่มลงมาเล่นกับเขาด้วย เมื่อบริการการแพทย์เป็นเรื่องของธุรกิจการแข่งขัน ผู้ได้ประโยชน์คือ ผู้บริโภคเป็นสิ่งถูกต้อง และไม่เท่านั้น ที่เรียกย่อๆ ว่า H.A. (Hospital Accreditation) ซึ่งไม่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ช่วยการพยาบาลหรือคนงาน ยาม แม้พยาบาลและแพทย์เองก็ต้องมีระบบ ก็เพื่อมาตรฐานและความพึงพอใจของการบริการ จึงจะเห็นสโลแกนของโรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมีเจ้าสองคำนี้แฝงอยู่

ซึ่งแม้แต่โรงพยาบาลของรัฐก็ต้องทำกิจกรรมดังกล่าวนั้น ซึ่งจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลง ในการให้บริการของรัฐว่า ปรับปรุงพัฒนาขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลาย

นอกจากเรื่องของการวิตกเรื่องค่าใช้จ่ายในการคลอดโดยวิธีผ่าคลอดแล้ว อีกปัจจัยหนึ่ง คงเป็นเพราะความเข้าใจไม่รู้จริงของคุณแม่ยุคใหม่ที่ค้นคว้าหาความรู้จากสื่อต่างๆ ที่มีมากมายในปัจจุบัน ทั้งหนังสือ รายการทางวิทยุ ทีวี และที่ก้าวหน้าคืออินเตอร์เนต ทึกวันนี้จะพบเห็นได้ตามแผงหนังสือ เกี่ยวกับสุขภาพออกมามากมายทั้งเขียนเองก็มากที่แปลมาก็หลากหลาย

ในรูปแบบที่เป็นงานวิจัยเวลาซื้อมาอ่าน บางเล่มนอกจากเป็นหนังสือแล้วยังมีเทปบ้าง วิดีโอแถมมา ถ้าไฮเทคก็จะมีขายตามแผงซีดีหรือร้านขายไอที คือแผ่นซีดีรอม (CD Rom) เป็นเรื่องๆ ราคาไม่แพงหนำซ้ำถูกกว่าหนังสือเสียอีก เท่านั้นยังไม่พอรายการสุขภาพทางสื่อวิทยุก็ดี ทีวีก็ดี จะมีแทบทุกช่วงทุกสถานี และมีชนิดที่เรียกได้ว่าสามเวลาหลังอาหาร และหลังเที่ยงคืนก็ยังมี ซึ่งเป็นดัชนีชีวิตว่าประชาชนคนไทยเราสนใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นไปตามขั้นตอนการพัฒนาประเทศ เมื่อเศรษฐฐานะของสังคมดีขึ้นไม่ต้องปากกัดตีนถีบ ประชาชนเริ่มมีเงินสะสมก็จะเริ่มมาสนใจสุขภาพร่างกาย เพื่อจะได้มีโอกาสใช้ชีวิตที่สะดวกสบายต่อไป

มนุษย์นั้นเรื่องกินเรื่องอยู่สามารถจะจำกัดหรือควบคุมได้ อยากอยู่บ้านราคาเป็นแสนเป็นหมื่น หรือเป็นล้านๆ ก็เลือกซื้อได้ตามอัตภาพกำลังทรัพย์ รวมทั้งเรื่องการบริโภคอาหารการกิน แต่เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นมักจะไม่สามารถควบคุมได้ตามกำหนดเกณฑ์ บางครั้งบางโรคที่เกิดขึ้น อาจจะต้องใช้จ่ายการรักษาเป็นแสนเป็นล้าน ซึ่งทั้งคนจนคนรวยหาเช้ากินค่ำ เศรษฐี มหาเศรษฐี ก็มีโอกาสเป็นได้ ค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ยากจะควบคุม

ค่าใช้จ่ายในส่วนของการดูแลสุขภาพนั้น เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาของประเทศ ถ้าขาดการควบคุม อาจจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจของประเทศจนล่มสลายได้ ประเทศไทยเรานั้นก็เข้าสู่วิกฤตดังกล่าวเมื่อ 4-5 ปีมานี้ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเข้มงวดเพื่อลดค่าใช้จ่าย สิ่งซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการดูแลค่าใช้จ่ายสุขภาพคือ การประกันสุขภาพ อาจจะอยู่ในรูปของประกันสังคมที่ประเทศไทยใช้อยู่ การประกันชีวิต ประกันสุขอนามัย ที่มีโฆษณาชักจูงให้เห็นมากขึ้นๆ

ยิ่งต่อไปเมื่องานบริการของรัฐจะต้องออกนอกระบบ เป็นองค์กรมหาชน การประกันสุขภาพ ก็จะยิ่งจำเป็นด้วย ทั้งนี้คุณแม่ควรเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของการคลอดว่า ขบวนการคลอดธรรมชาติ ทางช่องคลอดนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัย (ส่วนใหญ่) ทั้งแม่และเด็ก มีข้อมูลการศึกษาทำให้เชื่อว่า ทารกที่คลอดทางช่องคลอด ทารกจะฉลาดกว่าที่คลอดทางหน้าท้อง เพราะในขบวนการคลอดธรรมชาตินั้น ทั้งทารกและมารดามีเวลาเตรียมตัวโดยเฉพาะทารกที่จะคลอดออกมาต่อสู้กับโลกภายนอก โดยเผชิญการคายน้ำคร่ำออกจากทางเดินหายใจทารก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลร้ายต่อทารก ในการคลอดทางช่องคลอด

ปัจจุบันอุบัติการณ์ในการทำคลอดทางหน้าท้อง (การผ่าคลอด) มีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้ว พบว่าอุบัติการณ์ผ่าตัดคลอดน่าจะอยู่ที่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้อ้างอิงจากข้อมูลการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกเป็นนโยบายที่จะพยายามลด อัตราการผ่าคลอดที่สูงมากในอเมริกา (ตัวเลขพอๆ กับประเทศไทย) ยิ่งเครื่องมือเทคโนโลยีเลิศหรูเพียงใด ยิ่งทำให้ตัวเลขอัตราการผ่าคลอดสูงมากขึ้น เพราะว่าเชื่อในเครื่องมือที่ใช้ควบคุมตรวจตราดัชนีต่างๆ (ซึ่งพื้นฐานทั่วไปก็ควบคุมตรวจตราการบีบตัวของมดลูก การเต้นของหัวใจทารก วัดตรวจตราความดันมารดา) และที่พิสดารมากขึ้น คือ การใช้สายไฟเกาะเกี่ยวศีรษะทารกเพื่อวัดตรวจคลื่นหัวใจและขณะเดียวกัน ก็ตรวจสอบสภาพความเป็นกรดด่างของโลหิตทารก และอาจจะวัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจน ในโลหิตทารกในอนาคตก็ได้

เครื่องมือก็คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ย่อมอาจจะคลาดเคลื่อนยิ่งถ้าผู้ใช้ไม่มีความชำนาญในการติดตั้ง การแปรผล ทำให้อุบัติการณ์ผ่าตัดคลอดสูงขึ้นเพราะอาจถูกเครื่องมือหลอกเอาได้ แต่คนไข้หรือผู้เป็นแม่ โดยเฉพาะญาติๆ จะชอบเพราะไม่ต้องรอลุ้นประการหนึ่ง และการที่ผู้เป็นแม่ปวดท้องคลอด ยิ่งบางรายปวดสลึงร้องบาทก่อความเครียดความวิตกกังวลกับญาติ คุณแม่บางคนควบคุมตัวไม่อยู่ ปวดท้องทีร้องลั่นบ้าง เท่านั้นไม่พอด่าทอสามีหาว่าเป็นต้นเหตุ จนมีเรื่องตลกห้องคลอดเกิดขึ้น เป็นตำนานมากมาย โดยหารู้ไม่ว่า การที่ผู้เป็นแม่ต้องปวดท้องคลอดนั้นมีผลต่อความสัมพันธ์แม่ลูกไม่น้อย ทำให้เห็นคุณค่าของการคลอดของทารกที่คลอดออกมา และในทางการแพทย์จะเตือนกันไว้เลยว่า แม่ที่ร้องนั้นแสดงว่าปลอดภัยไม่อยู่ในสภาวะอันตราย

ถ้าคุณแม่คนใดเงียบไม่ร้อง ไม่ครางต่อการเจ็บครรภ์คลอดต้องรีบเข้าไปดูแลทันที แสดงว่าอาจจะกำลังมีสภาพผิดปกติ ซึ่งในขบวนการคลอดนั้นต้องถือว่าเป็นภาวะถึงวิกฤตทางการแพทย์ เพราะทั้งแม่และทารกกำลังอยู่ในขบวนการคลอดที่อาจจะเกิดสภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ คือการตกเลือดเสียเลือดอาจจะมาจากมดลูก แตก เส้นเลือดฉีกขาด เนื้อเยื่อทางช่องคลอดฉีกขาด หรือทารกเป็นอันตรายและที่พบไม่น้อยคือ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

ในวิกฤตของแม่การตรวจติดตามไม่ยากโดยดูการร้อง การเคลื่อนไหว ดูความดันโลหิตฯ ตรวจติดตามได้ง่าย แต่ทารกในครรภ์จะต้องตรวจเช็กลำบากและทารกไม่มีปากมีเสียง จึงต้องใช้เครื่องมือคอยเฝ้าฟังการเต้นของหัวใจทารกแทน

ยิ่งปัจจุบันมีการใช้ยาเร่งการคลอดอย่างมากมาย ยิ่งต้องระมัดระวัง ในกรณีที่ตรวจพบว่า ทารกทนต่อขบวนการคลอด คือการบีบตัวหดรัดของมดลูกไม่ได้ซึ่งกราฟหัวใจจะแสดงออก แพทย์ก็จะให้คลอดทางหน้าท้อง ซึ่งต้องมีการให้ยาระงับความรู้สึกไม่ว่าทั้งทางไขสันหลัง หรือการดมยาสลบก็จะมีผลข้างเคียงต่อทั้งผู้เป็นแม่และทารกจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมผ่าตัด ในขบวนการคลอดเพื่อความปลอดภัยจาการดมยาสลบ หรือการให้ยาระงับความรู้สึก การงดอาหาร (ไม่ใช่อดอาหาร) จึงยังเป็นสิ่งจำเป็น

การผ่าตัดคลอดเป็นขบวนการทางหัตถการที่ถือเป็นผ่าตัดใหญ่เช่นกัน ต้องมีทั้งทีมสูติแพทย์ และกุมารแพทย์เข้ามาดูแลทั้งแม่และลูก การผ่าตัดคลอดเป็นขบวนการผ่าตัดที่ฝรั่งเรียกว่า Bloody Operation คือการผ่าตัดจะมีการสูญเสียโลหิตมากกว่าผ่าตัดทั่วๆ ไปโดยเฉลี่ย เพราะต้องตัดผ่านผนังมดลูก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย และขบวนการเอารกออกจากโพรงมดลูก ก็ยังมีการสูญเสียเลือดอีกเช่นกัน การทำผ่าตัดจึงต้องพิถีพิถันมาก เนื่องจากเป็นเนื้อเยื่อ ที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก การหายคืนรูปของเนื้อมดลูกจึงเป็นไปได้ดีและเร็วและจะมีความแข็งแรง ใกล้เคียงกับปกติ ยกเว้นในกรณีที่มีปัจจัยขัดขวางการหายของเนื้อเยื่อหรือการประสานเชื่อม ของเนื้อเยื่อมดลูกซึ่งเป็นการติดเชื้อหลังผ่าตัด

สภาพทุโภชนาคือ แม่ขาดสารอาหารหรือคุณแม่มีโรคประจำตัวที่ทำให้การหายของเนื้อเยื่อ เป็นไปอยางไม่ปกติ ลักษณะของแผลหรือรอยผ่าตัดก็เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าผ่าตามยาวของตัวมดลูก ซึ่งมักจะทำเฉพาะในรายที่รกเกาะต่ำหรือมีเวลาวิกฤตสุดๆ ก็อาจจะทำให้แผลเป็นของมดลูกอ่อนแอ ทนการบีบรัดตัวไม่ได้ จากการศึกษาพบว่าการทำคลอดทางช่องคลอดหลังจากผ่าท้องคลอด สามารถทำได้ถ้าได้รับการประเมินตามกฎเกณฑ์ที่รัดกุมในการควบคุมการประเมิน ซึ่งภาษาแพทย์เรียกว่าหัตถการ VBAC (ไม่ใช่ ABAC) ซึ่งจะมีหัวข้อในการประเมิน ทั้งในส่วนของแม่และทั้งทารก

เท่านั้นไม่พอ ต้องมีทีมดูแลการแพทย์ที่พร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลากร มีความพร้อมจะแก้ไขปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในขบวนการของการคลอดทางช่องคลอดที่ต้องเน้นความพร้อมทางบุคลากร เพราะเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ที่มีเรื่องราวฟ้องร้องระหว่างคนไข้กับหมอหรือกับโรงพยาบาล เพราะมีแต่ความพร้อมทางเครื่องมือแต่ไม่มีความพร้อมทางบุคลากร การจะตัดสินให้การคลอด เป็นไปในลักษณะใด การตัดสินใจของแพทย์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะในการคลอดแต่ละครั้ง สูติแพทย์จะต้องถือหลัก "ลูกเกิดรอด (อย่างมีคุณภาพ) และแม่ปลอดภัย" เป็นหลักการแรก

การคลอดทางช่องคลอดธรรมชาตินั้น ภายใต้การควบคุมของแพทย์ คุณแม่จะเสี่ยงต่อการเจ็บปวดมดลูกและเมื่อยล้าเท่านั้น แต่ถ้าผ่าตัดคลอด คุณแม่จะต้องเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนในการดมยา และผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเพิ่มเติมได้ ปัจจุบันคุณแม่มักจะไม่ค่อยฝึกถูกต้อง ฝึกแต่ถูกใจ จึงทำให้อัตราการทำผ่าตัดคลอดสูงเกินธรรมชาติ

น.พ.วีระ สุรเศรณีวงศ์

(update 9 กุมภาพันธ์ 2001)


[ ที่มา... นิตยสารแม่และเด็ก   ปีที่ 24 ฉบับที่ 345 พฤศจิกายน 2543]

[ BACK TO LIST]

[Home] [ เพศ] [ครอบครัว] [ ผู้สูงวัย ] [วัยรุ่น] [ เลี้ยงลูก ] [ โรคเด็ก ][คุมกำเนิด] [ โรคสตรี ] [กามโรค] [เกย์] [ สุขภาพจิต] [ law ]