อัลตราซาวนด์ที่อยากรู้ ตอนที่ 18
คุณแม่ตั้งครรภ์ครับ เพื่อให้ทราบอายุครรภ์ที่แน่นอน อันเป็นจุดที่สำคัญในการดูแลและรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดซึ่งอาจจะได้จากประวัติการตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก แต่ถ้าหากตรวจในไตรมาสที่ 2 และ 3 จะต้องตรวจแยกจากทารกที่มีภาวะโตช้าในครรภ์ให้ได้ เนื่องจากการรักษาจะแตกต่างกันครับ
การระงับการเจ็บครรภ์คลอด
อายุครรภ์มากที่สุดเท่าไหร่ ที่จะไม่ระงับการเจ็บครรภ์คลอดยังเป็นปัญหาในแต่ละโรงพยาบาล แต่โดยทั่วไปจะยึดความพร้อมของปอดทารกเป็นหลัก ซึ่งความสำคัญของการรักษาอยู่ที่สูติแพทย์ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงการคลอดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการดูแลทารกแรกเกิดของโรงพยาบาลแต่ละแห่งด้วย หากไม่มั่นใจอาจยืดระยะเวลาออกไปได้ เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะที่ปอดของทารกยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ (Respiratory Distress Syndrome)
ถึงแม้จะมีรายงานว่า อายุครรภ์ 35-38 สัปดาห์ ก็ยังมีโอกาสเกิดได้ถึงร้อยละ 6 แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่ขอฤกษ์ในการผ่าคลอด (เช่น ท้องที่แล้วเคยผ่าคลอดมา ท้องนี้จึงต้องผ่าคลอดซ้ำอีก) ซึ่งจะต้องระลึกเสมอว่าการผ่าคลอดก่อนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์โอกาสที่ลูกจะอยู่ในตู้อบมีสูงถึงร้อยละ 6 ในระหว่างที่ลูกอยู่ในตู้อบนั้นต้องได้รับออกซิเจนด้วย อาจส่งผลกระทบกับภาวการณ์มองเห็นของลูกในอนาคตได้ จึงต้องระวังเรื่องนี้ไว้ให้มาก เพราะถ้าลูกไม่พร้อมแล้วไปบังคับให้คลอดออกมา สิ่งที่จะเกิดคือจะเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกสูงมาก แถมลูกยังต้องเสี่ยงต่อปัญหาอีกมากมายตามมา
ภาวะแทรกซ้อน
อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาควรคำนึงถึงภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารกที่จะเกิดจากการใช้ยา หรือการปล่อยให้การตั้งครรภ์ต่อไปด้วยครับ
นอกจากนี้ทารกในครรภ์ยังต้องมีชีวิต และไม่อยู่ในภาวะที่มีอันตรายไม่มีความพิการแต่กำเนิด ไม่มีภาวะโตช้าในครรภ์ ไม่มีภาวะบวมน้ำ ไม่มีภาวะติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ และสำหรับมารดาก็ต้องตรวจอย่างรอบคอบให้แน่ใจว่า ไม่มีโรคแทรกซ้อนทางอายุรศาสตร์ เช่น ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ความผิดปกติของฮีโมโกลบิน โรคเบาหวาน โรคหัวใจหรือไทรอยด์ เป็นต้น
โดยปกติการระงับการเจ็บครรภ์คลอดต้องพิจารณาสภาวะของปากมดลูก ว่าต้องไม่ขยายเกินหว่า 4 ซม. ถ้ามีการหดรัดตัวของมดลูกแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกก็ไม่ควรให้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก
การรักษา และ ข้อควรระวัง !
การรักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดด้วยการ นอนพัก พบว่ายังใช้ได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ยกเว้นจำเป็นต้องให้ยาระงับการบีบรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงข้อบ่งชี้ และข้อห้ามของการใช้ เนื่องจากยาพวกนี้มีหลายกลุ่มมาก โดยกลุ่มที่ใช้บ่อยจะมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจทำให้ใจสั่น ปวดศรีษะ น้ำท่วมปอด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก และแน่นหน้าอกได้
ภายหลังได้ยากลุ่มนี้แล้ว พบว่า ผลที่ได้ไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มที่ได้ยาหลอก (ได้รับยาที่เป็นแป้งไม่มีส่วนผสมของตัวยา) ในแง่ของอายุครรภ์ที่คลอด ระยะเวลาการคลอดที่ยืดออกไป เพื่อรอให้มีการใช้ยากลุ่มที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของปอดทารก รวมทั้งสามารถที่จะส่งคุณแม่ไปยังโรงพยาบาลที่มีระดับขีดความสูงในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดได้เท่านั้น
คุณแม่ที่มีภาวการณ์เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ควรจะคลอดในสถานที่ที่สามารถดูแลทารกน้ำหนักตัวน้อยได้ดี ถ้าเป็นไปได้ควรส่งคุณแม่ตั้งแต่ก่อนคลอดจะดีกว่าการส่งตัวทารกแรกเกิดหลังจากคลอด ดังนั้นจึงควรปรึกษาทั้งหมอเด็กและหมอดมยาก่อนคลอดจะดีกว่า
เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดมีโอกาสขาดออกซิเจน และได้รับบาดเจ็บจาการคลอดได้ ดังนั้น การใช้ยาระงับปวด และยานอนหลับ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจจะไปกดการหายใจของทารกหลังคลอดได้ คุณแม่ต้องเข้าใจการพยากรณ์โรคของทารกแรกเกิดและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดมาเนื่องจากทารกยังคงเสี่ยงต่อการมีปัญหาในการมองเห็น เจริญเติบโตช้า ปัญญาอ่อน โอกาสเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ต่อไปจะเพิ่มขึ้นด้วยครับ
อ่านมาถึงตรงนี้ คุณแม่คงเข้าใจการคลอดก่อนกำหนดไม่มากก็น้อย และคงเข้าใจว่าทำไมการคลอดก่อนกำหนดจึงเป็นปัญหาสำคัญที่สูติแพทย์ และคุณแม่จะต้องให้ความระมัดระวัง ในการป้องกันและการดูแลรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อลูกที่คลอดออกมานั้นจะได้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ดั่งที่คุณพ่อและคุณแม่ปรารถนาครับ