บทความเกี่ยวกับ ครอบครัว
คนเป็นคนที่ - 5257 [Date : 18 เม.ย. 2553 ]   
 
เลิกกันแล้ว ไยไม่แล้วต่อกัน
 
วันที่ 18 เม.ย. 2553   โดย นวลศิริ เปาโรหิตย์
 
 
เลิกกันแล้ว ไยไม่แล้วต่อกัน
 


เลิกกันแล้ว ไยไม่แล้วต่อกัน


ธรรมนูญกับอรพิน หย่ากันได้ปีเศษ ทั้งคู่จากกันด้วยความสมัครใจ เพราะทัศนคติไม่ตรงกัน แต่เมื่ออรพินได้ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ธรรมนูญกำลังจะแต่งงานใหม่ เธอกลับรู้สึกปั่นป่วนอย่างบอกไม่ถูก

จะว่าเสียดายก็ไม่ใช่ เพราะเธอไม่ต้องการที่จะกลับไปอยู่ในสภาพเดิมที่ถูกทอดทิ้ง สามีที่ทำแต่งานไม่เคยให้ความรู้สึกอบอุ่น หรือเข้าใจเธอ เธอรู้สึกว่า ชีวิตแต่งงานเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ มากกว่าการเป็นสามีภรรยาในความหมายของความรักความเข้าใจ

"ฉันคิดว่าฉันทำถูกที่เลิกจากเขา แต่พอรู้ว่าเขาจะแต่งงานใหม่มันก็รู้สึกจี๊ดขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ คล้ายกับว่าเขาจะไปมีความสุขได้อย่างไร ในขณะที่ฉันยังทนทุกข์ทรมานอยู่กับความเจ็บปวดและสูญเสีย… ผู้หญิงคนนั้นเป็นใครกัน ทำไมผู้หญิงที่จะมาแทนที่ฉันคนนี้จึงทนเขาได้ ในขณะที่ฉันทนเขาไม่ได้? ฉันผิดรึเปล่าที่เลิกกับเขา? ฉันน่าจะพยายามให้มากกว่านี้หรือเปล่า?" ฯลฯ

อรพินรู้สึกถึงความโกรธปนกับความอิจฉาลึกๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของเธอ เธอไม่รู้ว่าควรจะคิด รู้สึก หรือปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะผ่านสภาวะของการวุ่นวานจิตใจในครั้งนี้ไปได้

เรื่องของอรพิน เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากมายที่ยังทำใจไม่ได้ กับการที่สามีเก่าลุกขึ้นมาแต่งงานใหม่
จริงๆ แล้ว ถ้าเราจะถามอรพินว่า เธออยากจะกลับไปคืนดีกับธรรมนูญหรือไม่?
คำตอบก็คงจะเป็น "ไม่" อย่าแน่นอน

ผู้หญิงแทบทุกคน กว่าจะตัดสินใจหย่ากับใครสักคน ก็คิดแล้วคิดอีก และเมื่อเธอตัดสินใจออกมา จากการแต่งงานแล้ว หลายคนก็พบว่า เธอพบความสงบทางจิตใจมากกว่าขณะที่อยู่กินกับสามีเก่า
แต่แม้ว่าจะมีการหย่าร้างเกิดขึ้นตามพฤตินัยและนิตินัยก็ตาม แต่ความรู้สึกของผู้หญิงหลายคน ยังเป็นความ "ไม่เสร็จสิ้น" ไปจากใจของเธอ
หลายคนยังรู้สึกเจ็บปวด เศร้าเสียใจ หรือบ้างก็เข็ดหลาบ ยังไม่กล้าที่จะไปเริ่มมีความสัมพันธ์ใหม่กับคนอื่นอีก

ทำไมผู้หญิง "ดีๆ" หลายคนจึงไม่รู้สึกดีใจที่หลุดออกมาจากผู้ชายที่ทำให้ชีวิตเธอต้องเจ็บปวด บางคนทำร้ายร่างกายเธอ บางคนปฏิบัติต่อเธอเหมือนเธอเป็นสมบัติที่เขาจะทำอย่างไรก็ได้
คำตอบก็คือ
ผู้หญิงมักจะแต่งงานด้วยความรักเป็นส่วนใหญ่

เมื่อรักแล้วจะรักเลย ไม่ใคร่เปลี่ยนใจง่าย แต่เมื่อเธอตัดสินใจหย่าร้างจากสามี การจากกันทางกฎหมาย ไม่ได้หมายถึงการขาดกันทางอารมณ์โดยอัตโนมัติ
พูดง่ายๆ ก็คือ ความรักมิได้จบลงพร้อมกับการเซ็นชื่อในใบหย่า
การตัดกันทางใจจึงมิได้เหมือนการตัดเชือก หรือการตัดกระดาษ
จิตใจไม่ใช่สวิตช์ไฟ ที่จะเปิดปิดได้เมื่อต้องการเสียเมื่อไร

ในช่วงแรกๆ ของการแต่งงานผู้หญิงจะ "ทน" ได้แทบจะทุกอย่างในผู้ชายที่เธอรัก ความรักดูจะมีอนุภาพมากกว่า เรื่องที่เธอไม่ชอบในตัวเขา แต่เมื่ออยู่กินกันไปนานเข้า ความอดทนก็ดูจะน้อยลงไปทุกทีและเมื่อความรักได้จืดจางลง พร้อมกับความ "เหลืออด" ที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น ตาชั่งด้านลบเริ่มมีน้ำหนักมากกว่าด้านบวก ตรงนี้แหละที่เขาและเธอมักแยกทางกันเดิน แต่แม้ว่าจะเลิกกันไปแล้วก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังจดจำสิ่ง "ดีๆ" ของอดีตสามีของเธอได้อยู่ จึงทำให้เกิดความเจ็บๆ คันๆ เมื่อรู้ว่าเขาไปมีใหม่แล้ว

และช่วงนี้เองที่ผู้หญิงหลาคนเริ่มวัฏจักรแห่งการรู้สึกสูญเสียรวดร้าวใจคล้ายๆ กับตอนที่เลิกกันใหม่ๆ อีกครั้งหนึ่ง
ความกระทบกระเทือนใจจึงเกิดขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ฝ่ายชายแต่งงานใหม่ก่อน และฝ่ายหญิงยังไม่เจอใคร ผู้หญิงมักจะอดรู้สึกน้อยใจ และสูญเสียคุณค่าลงไปอย่างช่วยไม่ได้

และธรรมชาติของมนุษย์ ก็มักจะอดคิดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นไม่ได้ เธออาจจะคิดว่า "อยากรู้นักว่า ผู้หญิงคนใหม่เป็นอย่างไร?" ทำไมจึงทนเขาได้ เราผิดหรือเปล่าที่ไม่อดทนให้มากกว่านี้… ยิ่งคิดก็ยิ่งหงุดหงิดทั้งๆ ที่ไม่ได้อะไรขึ้นมา แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้

อีกประกรหนึ่งก็คือ แม้ผู้หญิงจะหย่าจากสามีเธอแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่เขายังไม่ได้แต่งงานใหม่ เธอก็ยังมีความรู้สึกลึกๆ ในใจว่า เธอยังมีคนคอย "TAKE CARE" ช่วยเหลือบางอย่างเมื่อเธอต้องการได้ แต่การประกาศแต่งงานใหม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวของเขา ทำให้เธอต้องเผชิญข้อเท็จจริงที่เธอปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาจะไม่มาคอยช่วยเหลือเธออีกแล้ว สายสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขานั้นขาดสะบั้นลงอย่างแน่นอนแล้ว

นอกจากการสูญเสียของเธอไปให้ผู้หญิงใหม่อย่างแน่นอนแล้ว ผู้หญิงยังรู้สึกว่า เธอได้สูญเสียความใฝ่ฝัน และอนาคตที่เธอเคยวาดเอาไว้ร่วมกับเขาอีกด้วย เหมือนอย่างที่อุไรได้พูดเอาไว้ว่า
"ฉันเคยฝันว่า เราจะมีครอบครัวที่เป็นสุข เขาจะเป็นพ่อบ้านที่ดี เราจะมีลูกที่น่ารักด้วยกัน เราจะค่อยๆ สร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมา…แต่ขณะนี้ความฝันของฉันสลาย เขาไม่ใช่พ่อบ้าน ที่ฉันอยากกลับไปร่วมชีวิตด้วยอีก บางทีฉันก็นึกถึงผู้หญิงที่มาแทนที่ฉัน หน้าที่ซึ่งควรจะเป็นของฉัน มันตกไปเป็นของผู้หญิงคนใหม่ได้อย่างไร…"

คำพูดของอุไร แสดงถึงความเจ็บปวดลึกๆ ของการสูญเสีย ทั้งตัวสามีและความฝันของเธอ ในเวลาเดียวกัน

โดยทั่วๆ ไปแล้ว การหย่าร้างไม่ได้หมายความว่า สามีภรรยาจะต้องเป็นศัตรูกัน ส่วนใหญ่สามีภรรยาที่หย่ากัน ยังคงความเป็นเพื่อนกันได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะถ้ามีเรื่องของลูก เข้ามาเกี่ยวข้องบ่อยครั้งเราจะเห็นสามีภรรยามีการปรึกษากันเรื่องของลูก ทั้งๆ ที่คนทั้งคู่มิได้มีความประสงค์ จะกลับมาคืนดีกันแต่อย่างใด

การที่สามีภรรยาที่หย่าร้างกันยังคงความเป็นเพื่อนกันได้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่ออดีตภรรยาได้ข่าวสามีในอดีต กำลังจะแต่งงานใหม่ ก็อาจจะยังหงุดหงิด คล้ายความรู้สึกหึงหวง โดยเฉพาะถ้าสามีเกิดไปแต่งงานกับคนที่ภรรยาเคยรู้จัก ก็อาจจะยิ่งทำให้ภรรยาทำใจยาก ดังเช่นกรณีของสราลี
"พอฉันรู้ว่า เขาจะไปแต่งงานกับมนไสล ฉันแทบบ้า เพราะยายนี่นะเป็นเด็กเสมียนหน้าห้องของเขาแท้ๆ ไม่นึกว่าเขาจะต่ำถึงเพียงนี้เลย เนี่ย…เผลอๆ ก็คงมีอะไรๆ กันตั้งแต่ก่อนหน้าที่เขาจะเลิกกับฉันแล้วก็ได้"

สราลีคิดไปไกลว่าอดีตสามีและเสมียนหน้าห้องคงจะมีความสัมพันธ์กันลับๆ มาก่อนที่เขาจะเลิกกับเธอ
หากความรู้สึกของผู้หญิง ไม่ยอมยุติการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอดีตสามี เธออาจจะอยากคิดไปไกล ถึงกับพยายามทำลายชีวิตสมรสของสามีเก่าเลยก็ได้ และบ่อยครั้ง วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ "การใช้ลูกเป็นเครื่องมือ" โดยเธออาจจะใช้ลูกให้เป็นตัวสอดแนมความสัมพันธ์ของอดีตสามีและภรรยาใหม่ของเขา ทำให้เกิดการปั่นป่วนเล่นๆ อย่างนั้นแหละ

หรือบางครั้งก็สร้างสภาวะ "ลูกเลี้ยง-แม่เลี้ยง" เข้ากันไม่ได้ และตรงนี้แหละที่เป็นจุดอันตราย ผู้หญิงหลายคนมีความแค้นในสามีเก่า ทำให้เธอยอมทำทุกอย่างที่จะทำลายเขาให้ย่อยยับให้ได้ เข้าตำรา "ถ้าฉันไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าหล่อนจะได้เขาไป"

การใช้ลูกเป็น "สายสืบ" ก็ดี การสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับสามีเก่าก็ดี อาจช่วยให้ภรรยาเก่าเกิดความ "สะใจ" ได้ แต่การกระทำดังกล่าว เป็นการทำร้ายเด็กอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะเด็กๆ จะรู้สึกสับสนไม่รู้จะเข้าข้างใคร

นอกจากนี้ ความสับสน ได้เพิ่มทวีคูณจากการที่เด็กๆ ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่จึงต้องแยกจากกัน และหากเขาถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้เป็นเครื่องมือดังกล่าว ก็เท่ากับยิ่งทำให้วุ่นวายใจ ทำลายความรู้สึกดีๆ ที่อาจจะยังพอมีเหลือจากความหวังลมๆ แล้งๆ ของเด็กว่า พ่อแม่เขาอาจจะยังมีโอกาสกลับมาคืนดีต่อกัน

ทางที่ถูก อดีตภรรยาจะต้องพยายามค่อยๆ เข้าใจความรู้สึกของลูกช่วยให้ลูกได้มีโอกาส พูดแสดงความรู้สึกของเขาออกมา แทนการใช้เด็กเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

เด็กๆ ที่อยู่กับพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ทั้งพ่อและแม่รักเขา แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ร่วมเป็นครอบครัวแบบเดิมก็ตาม ทั้งพ่อและแม่ก็ยังเป็นพ่อแม่ของเขาอยู่ ไม่มีอะไรในโลกที่จะเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ เขายังสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ทั้งกับพ่อและแม่ของเขา รวมทั้งแม่เลี้ยง โดยไม่ต้องถูกทำให้รู้สึกว่า เขาไม่ซื่อสัตย์ต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สรุปก็คือ คุณผู้หญิงทั้งหลายที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่อดีตสามีไปแต่งงานใหม่ อาจจะเกิดความรู้สึกเจ็บๆ คันๆ ขึ้นมาได้อีกครั้ง รวมทั้งความรู้สึกว่าได้สูญเสียของที่เคยเป็นของเรา ครั้งหนึ่งไปเสียแล้ว คุณอาจยังทำใจลำบาก คล้ายถูกมองข้ามและทอดทิ้งอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าคุณจะรู้สึกเช่นไร ความรู้สึกเช่นว่าเป็นสิ่งปกติ ที่เกิดได้กับผู้หญิงหลายคน แต่ข้อสำคัญคุณต้องเข้าใจว่า
คุณไม่ใช่คนไร้ค่า ไม่ใช่เหยื่อของชีวิต แต่คุณคือผู้หญิงที่เข้มแข็ง สามารถดูแลตัวเองได้ดี แม้ว่าคุณจะไม่มีสามีแล้วก็ตาม ชีวิตคุณก็จะก้าวไปข้างหน้าต่อไปด้วยความมั่นใจ คุณจะไม่ยึดติดกับเขา และคุณก็จะพยายามทำใจให้ปรารถนาดี กับการมีชีวิตใหม่ของเขา
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคุณได้คุณค่าของตัวเอง โดยการเลือกวิถีชีวิตใหม่ให้กับตัวเองอย่างมั่นใจแล้วนั่นเอง

สิ่งที่ผ่านมาระหว่างคุณกับเขา คุณจะถือเอาเป็นบทเรียนในการก้าวต่อไปของชีวิตคุณ ประสบการณ์ทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น เป็นผู้หญิงที่มีความมั่นคงในตนเองมากขึ้น และคุณจะใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำหรับการงอกงามเติบโตก้าวไปข้างหน้า ด้วยความมีสติต่อการมีความสัมพันธ์ ที่มีความหมายกับผู้อื่นต่อไปในภายหน้า

โดยนวลศิริ เปาโรหิตย์

(update 21 ธันวาคม 2000)


[ ที่มา...หนังสือ รักให้เป็น โดยนวลศิริ เปาโรหิตย์ ]
 
 

[ ที่มา...http://www.elib-online.com/doctors2/family_love15.html ]

URL Link : http://www.elib-online.com/doctors2/family_love15.html

 

     
   


[Home] [โรคเด็ก] [เสพสมให้สมอารมณ์หมาย] [คู่มือเลี้ยงลูก] [คลินิกเด็ก] [ผู้สูงวัย] [ครอบครัว] [คุมกำเนิด] [วัยรุ่น] [เบี่ยงเบน] [กฏหมาย] [สุขภาพจิต] [ผู้หญิง ผู้หญิง] [กามโรค]